ในปัจจุบันมีการซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้นมาก ไม่ว่าจะด้วยความจำเป็นหรือเหตุผลอื่นๆ และสิ่งที่ตามมาคือ “การต่อภาษีรถยนต์” หรือเรียกง่ายๆ คือการต่อทะเบียนในแต่ละปี ภาษีรถยนต์ตัวนี้มีความสำคัญมากขนาดไหน แล้วถ้าจะต่อภาษีง่ายที่สุดสามารถทำได้อย่างไร
“ทำไมต้องต่อภาษีรถยนต์” อาจเป็นคำถามที่ใครหลายคนอยากถามตั้งแต่ซื้อรถ ซึ่งคำตอบที่ได้มาแบบกำปั้นทุบดิน ก็คือเป็นการทำตามกฎหมาย แต่ถ้ามองลึกลงไปหน่อย การใช้รถใช้ถนนในทุกวันจะก่อให้เกิดการเสื่อมสภาพของถนนหนทาง รวมไปถึงต้องสร้างถนนเส้นใหม่ เพิ่มเติม
การจ่ายภาษีรถยนต์ก็เสมือนเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนหน่วยงานคมนาคมให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และทำถนนหนทางทั่วประเทศให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงปรับปรุงการคมนาคมอื่นๆ
ถ้าไม่ต่อจะเป็นอย่างไร
หากละเลยการต่อภาษีรถยนต์ย่อมถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายถือเป็นเรื่องพื้นฐานที่คนใช้รถรู้ แล้วผลที่ตามมาล่ะ
เสียค่าปรับ ตามปกติแล้วการต่อภาษีสามารถทำได้ล่วงหน้าก่อนทะเบียนหมดอายุไม่เกิน 3 เดือน แต่ถ้าต่อภาษีล่าช้าจะโดนค่าปรับ 1% ของภาษีรถยนต์ต่อเดือน ยิ่งปล่อยไว้นาน ค่าปรับก็จะยิ่งเพิ่ม หากปล่อยไว้นานอาจโดนค่าปรับย้อนหลังอ่วมได้ไม่ยาก
ถูกระงับทะเบียน เมื่อปล่อยรถไว้นานโดยไม่ได้ทำการต่อทะเบียนเกิน 3 ปี ทางขนส่งจะดำเนินการระงับทะเบียนทันที หากจะใช้รถคันเดิมจะต้องดำเนินการยื่นขอจดทะเบียนรถใหม่พร้อมคืนป้ายทะเบียน รวมถึงดำเนินการชำระภาษีรถยนต์ย้อนหลัง สำหรับรถใครที่มีการซ่อมเป็นเวลายาวนาน หรือจอดไว้ไม่ได้ใช้งาน ขนส่งก็ไม่ได้ใจร้ายสามารถยื่นแสดงการระงับใช้รถชั่วคราวล่วงหน้าที่ขนส่งได้ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสียภาษีในช่วงนั้นๆ
เสียค่าใช้จ่ายจิปาถะ นอกจากค่าปรับแล้ว การไม่ต่อภาษีรถยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก เช่น ค่าตรวจสภาพ ค่าป้ายใหม่ เป็นต้น ยังไม่นับค่าเดินทางไปๆ มาๆ กรณีเตรียมเอกสารไม่ครบหรือโดนเรียกเอกสารเพิ่มเติม ซึ่งเทียบแล้วการยื่นต่อภาษีตามปกติยังมีความคุ้มค่าเสียกว่า
โดยสรุปแล้ว เราสมควรดำเนินการต่อภาษีรถยนต์เป็นประจำทุกปี เพื่อที่จะให้ไม่ต้องเสียค่าปรับเพิ่มเติม รวมถึงประหยัดเวลาอีกดว้ย
การต่อภาษีรถยนต์ทำอย่างไร
หลังจากเข้าใจความสำคัญของการต่อภาษีแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการดำเนินการซึ่งต้องเตรียมเอกสารที่จำเป็นก่อน ดังนี้
เอกสารที่ต้องเตรียม
หนังสือแสดงการจดทะเบียนรถ หรือเล่มทะเบียน
เอกสาร พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ
หลักฐานการผ่านการตรวจสภาพรยนต์ แต่ถ้าหากขาดต่อภาษีเกิน 3 ปีจะต้องมีเอกสารเพิ่ม ดังนี้
– สำเนาบัตรประชาชน
– หลักฐานการระงับทะเบียน (กรณียื่นขอระงับ)
– เอกสารอื่นๆ ตามที่ขนส่งต้องการ
วิธีการต่อภาษี
ยื่นขอคำขอต่อทะเบียน (หรือจดทะเบียนใหม่) ณ สถานที่ที่รับต่อภาษีรถยนต์ เช่น กรมขนส่งทางบก ไปรษณีย์
ดำเนินการตรวจสภาพรถ ณ จุดที่กำหนด (หากดำเนินการนอกขนส่ง จำเป็นต้องขอเอกสารตรวจสภาพรถก่อน)
ชำระเงินค่าธรรมเนียม
รับหลักฐานการเสียภาษี (และป้ายทะเบียน หากเป็นกรณีจดใหม่)
ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าหากคุณขาดการต่อภาษีไปเป็นเวลานานเกิน 3 ปี จะต้องไปดำเนินการที่ขนส่ง การต่อ พ.ร.บ. ตรวจสภาพก็เช่นกัน และทางขนส่งอาจมีการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเล็กน้อยสำหรับการใช้รถ หลังจากนั้นก็สามารถต่อภาษีได้แล้ว
สิ่งหนึ่งที่ก่อให้เกิดความสับสนสำหรับผู้ใช้รถมือใหม่คือเข้าใจว่าภาษีรถยนต์(หรือการต่อทะเบียน) และการต่อพ.ร.บ. นั้นเหมือนกัน แต่จริงๆ ไม่ใช่